เลือกภาษา:
ความรู้เพื่อสุขภาพ

รู้จัก เครื่องตรวจค่าไขมันในตับ

นพ.ศัลยวิทย์ จิตต์มิตรภาพ


 

การตรวจค่าไขมันในตับเพื่อวัดค่าตับแข็งและไขมันในตับ

ตับ” เป็นอวัยวะที่มีหน้าที่สำคัญ อาทิ ย่อยอาหารประเภทไขมัน ขจัดสารพิษ ทำลายเชื้อโรค ถ้าเราไม่ใช้งานตับมากเกินไป (มีไวรัสตับแล้วไม่รักษา กินแอลกอฮอล์เกินขนาด หรืออ้วนเฉื่อยชาปล่อยไขมันพอกตับรุนแรง) ตับก็จะสามารถทำหน้าที่ของเขาได้เป็นอย่างดีและมีประสิทธิภาพ แต่เมื่อวันใดก็ตามที่เราละเลย ขาดการเอาใจใส่ตับ การทำลายตับ จะเกิดได้แบบที่เราไม่รู้เนื้อรู้ตัว เพราะตับไม่มีเส้นประสาทรับความเจ็บปวด คนไข้ตับแข็งส่วนใหญ่ไม่มีอาการจนกว่าจะเกิดโรคตับระยะสุดท้าย

ดังนั้นเมื่อเราไม่มั่นใจว่า ณ ปัจจุบัน ตับเรายังมีความสุข สุขสบายดีอยู่หรือไม่นั้น เราสามารถ ตรวจเช็คการทำงานของตับด้วย ด้วย “เครื่องตรวจค่าไขมันในตับ”

การตรวจค่าไขมันในตับคืออะไร

เครื่องตรวจค่าไขมันในตับคือ เทคโนโลยีในการตรวจหาภาวะพังผืดในเนื้อตับ และตรวจวัดปริมาณไขมันสะสมในตับ โดยไม่ต้องเจ็บตัว หรือเจ็บปวดใดๆ กับร่างกาย และลดอัตราความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อน เมื่อเทียบกับการเจาะตับ (Liver Biopsy)

1. ใช้ในการตรวจวินิจฉัยเพื่อดูสภาพการเกิดพังผืดในเนื้อตับของผู้ป่วยโรคตับเรื้อรัง

2. ใช้ประเมินปริมาณไขมันสะสมในตับสำหรับผู้ป่วยที่มีโรคไขมันเกาะตับ (Fatty liver)

3. อาจใช้แทนการเจาะเนื้อตับในผู้ป่วยที่มีข้อห้าม หรือปฏิเสธการเจาะตับ

4. ช่วยวินิจฉัยผู้ป่วยที่เป็นตับแข็งระยะแรกๆ

5. อาจใช้เพื่อติดตาม ประเมินระดับความรุนแรง ของตับแข็งช่วยวางแผนการรักษา

ใครที่อยู่กลุ่มเสี่ยงและควรตรวจด้วยเคริ่องตรวจค่าไขมันในตับ

จากข้อมูลวิจัย ประสบการณ์จริงที่ได้ตรวจค่าตับแข็งให้แก่คนไข้ชาวเอเชียกว่าหมื่นราย พบว่าการค้นหาตับแข็งระยะไม่มีอาการนั้น แยกได้เป็นการค้นหาในคนที่สบายดีมีความเสี่ยงเล็กน้อย และ คนไข้กลุ่มที่เสี่ยงชัดเจน

โดยคนที่สบายดี ไม่อ้วน ผลเลือดปกติ จะพบไขมันเกาะตับได้ร้อยละ 20 และพบตับแข็งเพียงร้อยละ 1 ซึ่งการพบคนไข้ตับแข็งเพียง 1 ราย จากการตรวจ 100 คนนั้น กลับถือว่าสำคัญมากเพราะทำให้คนไข้รายดังกล่าวสามารถรับการรักษาตับแข็งและแก้ไขสาเหตุตับแข็งได้ก่อนที่จะสายเกินไป และ นำไปสู่อายุขัยที่ยืนยาวขึ้น ส่วนคนไข้ 19 รายจาก 100 รายที่พบไขมันเกาะตับ จะนำไปสู่การลดความเสี่ยงอัมพาตและโรคหัวใจ ซึ่งการป้องกันนั้นคุ้มค่ากว่าการรอรักษาหลังเส้นเลือดหัวใจหรือสมองตีบมากๆ

ส่วนการตรวจในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงนั้น อาจพบภาวะตับแข็งได้สูงถึง ร้อยละ 10 ถึง 50 เลยทีเดียว (ขึ้นกับปัจจัยเสี่ยง)

1. ผู้ป่วยโรคตับที่มีผลเลือดค่าการทำงานของตับที่อัตราส่วน AST/AST มากกว่า 1 เพราะกลุ่มนี้มีโอกาสเป็นโรคตับแข็งได้มากขึ้น

2. มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และ ซี

3. ดื่มเหล้าเป็นเวลานาน

4. ทานยา(บางชนิด) หรือ สมุนไพร ติดต่อกันเป็นเวลานาน

5. ผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือโรคอ้วนลงพุง

6. กลุ่มภาวะตับคั่งไขมัน ที่อายุมากกว่า 45 ปี เพราะการพบไขมันเกาะตับจากอัลตราซาวด์ ไม่สามารถบอกปริมาณไขมันและความเสี่ยงได้

ข้อดีของการตรวจค่าไขมันในตับ

1. ตรวจได้ทันที และทราบผลรวดเร็ว

2. การตรวจไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวด หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงใดๆ

3. การเตรียมตัวของผู้ป่วยก่อนเข้ารับการตรวจไม่ยุ่งยากคือ ให้งดน้ำและอาหารเพียง 2 ชั่วโมง ก่อนการตรวจ

วิธีการตรวจค่าไขมันในตับ

นอนหงายโดยยกแขนทั้งสองข้างไว้เหนือศีรษะ ทาเจลที่หัวตรวจหรือผิวหนังคนไข้เล็กน้อย

ทำการตรวจวัดที่บริเวณตำแหน่งตรงกลางเนื้อตับทั้งหมด 10 ครั้งในจุดเดียวกัน

ผลที่ได้เป็นค่าความแข็งของตับ เป็นเลขตั้งแต่ 2.5-75 กิโลพาสคาล และค่าปริมาณไขมันสะสมในตับตั้งแต่ 100-400 เดซิเบล/เมตร ซึ่งแพทย์จะแปลผลที่ได้เพื่อใช้เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยโรคตับ

คำแนะนำสำหรับการตรวจ

ให้งดอาหารอย่างน้อย 1-6 ชั่วโมง ก่อนการตรวจวัดด้วยเครื่องวัดค่าไขมันในตับ

ข้อจำกัดของการตรวจค่าไขมันในตับ

ไม่สามารถตรวจหาจุดเนื้องอกหรือมะเร็งในตับได้

หากทำการตรวจในผู้ป่วยที่อ้วนมาก ผลอาจคลาดเคลื่อนได้บ้า (ดัชนีมวลกายมากกว่า 28 ( BMI > 28kg/m2 ))

สำหรับผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์ ผู้ป่วยที่มีภาวะท้องมาน (Ascites) จะตรวจได้ยาก

ไม่ควรใช้กับผู้ป่วยที่ติด เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pace Maker)

ไม่ควรใช้กับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งระยะลุกลาม (เพราะ อายุขัยคนไข้มักสั้น จนไม่ได้ประโยชน์)

การแปลผลค่าไขมันในตับ

ค่าที่วัดจากการตรวจค่าไขมันในตับ มีค่าตั้งแต่ 2.5 ไปจนถึง 75 kPa โดย

ค่าที่ต่ำกว่า 7 kPa บ่งบอกถึง มีพังผืดน้อยมาก หรือไม่มีเลย

หากมากกว่า 7 kPa บ่งบอกถึง มีภาวะพังผืดค่อนข้างมาก

ค่ามากกว่า 9.5 kPa หมายถึงมีพังผืดมากแล้ว และ คนไข้ส่วนหนึ่งจะเกิดตับแข็งในอนาคตหากไม่รักษา

ค่ามากกว่า 12.5 kPa หมายถึงมีภาวะตับแข็ง แล้ว

ที่มา : http://www.fmshk.org/database/articles/o3mb5_6.pdf