เลือกภาษา:
ความรู้เพื่อสุขภาพ

โรคพาร์กินสัน

พญ.อาภากร ซึงถาวร
โรคพาร์กินสัน ( Parkinson's disease) เป็นโรคที่เกิดจากภาวะความเสื่อมของระบบประสาทส่วนกลาง โดยเฉพาะเซลล์ประสาทที่สร้างสารสื่อประสาทโดปามีน ซึ่งสารสื่อประสาทดังกล่าวนี้ มีความจำเป็นต่อการเคลื่อนไหวของร่างกาย เมื่อเซลล์ประสาทดังกล่าว เสื่อมถดถอยลง จึงสามารถผลิตสารสื่อประสาทโดปามีนได้ลดลง จึงทำให้เกิดการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติของผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน
        โดยทั่วไป อาการของโรคพาร์กินสัน มักเริ่มจากอาการเคลื่อนไหวได้ช้าลง หรือมีอาการแข็งเกร็ง หรือสั่นเวลาที่นั่งพัก โดยอาการมักเริ่มจากแขนหรือขาซีกใดซีกหนึ่งของร่างกายก่อน หากอาการเป็นมากขึ้น อาจทำให้เกิดอาการดังกล่าวที่ร่างกายทั้งสองซีกได้ ซึ่งผู้ป่วยอาจจะมีอาการครบทั้งเคลื่อนไหวช้า แข็งเกร็งและสั่นตั้งแต่แรก หรืออาจเริ่มจากเพียงอาการใดอาการหนึ่งก่อนก็ได้
        ในขณะเดียวกัน ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแสดงที่ไม่ตรงไปตรงมา กล่าวคือ อาจเริ่มจากเดินติดขัด ก้าวเท้าสั้นๆและถี่ ก้าวขาไม่ออก เขียนหนังสือติดขัดหรือเขียนตัวเล็กลง หรือเดินขาลากข้างใดข้างหนึ่ง
        จะเห็นได้ว่าอาการของโรคพาร์กินสันนั้นค่อนข้างหลากหลาย และในรายที่เพิ่งเป็นเริ่มต้น อาการอาจไม่เป็นเด่นชัดมาก หรืออาจไม่ตรงไปตรงมา ประกอบกับในความเป็นจริงแล้ว กลไกของภาวะเสื่อมของระบบประสาทส่วนกลางนั้น มักเริ่มต้นมานานหลายปี กว่าที่จะมีอาการทางการเคลื่อนไหวให้เห็นอย่างเด่นชัด ซึ่งข้อมูลจากวารสารงานวิจัยต่างๆได้พบว่า การได้รับการวินิจฉัยและการรักษาโดยเร็ว จะทำให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตในระยะยาวของผู้ป่วยโรคพาร์กินสันได้มากกว่าการเริ่มการรักษาที่ช้า
        ดังนั้น หากท่านหรือบุคคลใกล้ชิด มีอาการที่สงสัยหรือเข้าได้กับโรคพาร์กินสันตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น (ที่สำคัญคือ แข็งเกร็ง ช้า สั่น เดินติด ซอยเท้าถี่) ท่านควรจะรีบพาบุคคลดังกล่าว มารับการวินิจฉัยและตรวจร่างกายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นการดีที่สุดค่ะ
 
ด้วยความปรารณนาดีจาก
ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลธนบุรี ทวีวัฒนา โทรศัพท์ 02 487 2100 ต่อ 1150 ต่อ
 
บทความโดย พญ.อาภากร ซึงถาวร