สัญญาณเตือนพ่อแม่ไม่ควรมองข้าม เมื่อลูกสูงไม่ทันเพื่อน
คุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจจะไม่ทราบว่า “ ต่อมไร้ท่อ ” นั้นกระจายอยู่ไปทั่วร่างกาย ยกตัวอย่างเช่น ต่อมไทรอยด์ ต่อมพาราไทรอยด์/ต่อมเคียง ไทรอยด์ ที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของแคลเซียม และมีคุณพ่อคุณแม่อีกหลายท่านจะมีความวิตกกังวลมาก กลัวลูกจะไม่สูง เท่าเทียมกับ เด็กคนอื่นๆ จึงมักจะปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับ เรื่องการเจริญเติบโตของลูก แล้วจะมีวิธีใดที่จะช่วยเพิ่มความสูงของลูกได้บ้าง วันนี้ไปพบกุมารแพทย์ด้านต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลธนบุรี2 จะมาไขข้อสงสัยยอดฮิตของคุณพ่อคุณแม่และมีคำแนะนำในการเลี้ยงลูกให้เจริญเติบโตสมวัยมาฝากกันค่ะ
เกณฑ์ทางการแพทย์แล้ว จะถือว่า เด็กคนหนึ่ง “เตี้ย” กว่าเกณฑ์ เมื่อพบว่า ส่วนสูงของเด็กคนนั้น น้อยกว่า ร้อยละ 91 ของเพื่อนที่มี อายุ เพศ และ เชื้อชาติเดียวกัน ซึ่งในทางสถิติ ก็หมายความว่า จะยังมีเด็กอีกร้อยละ 3 ที่จะ ถูกจัดว่า เตี้ยกว่าเกณฑ์ แม้ว่าเขาจะเป็นเด็กที่ปกติ และมีสุขภาพแข็งแรงดีก็ตาม พ่อแม่ควรติดตามชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูงของลูกทุก ๆ 3-6 เดือน และควรจดบันทึกการเจริญเติบโตของลูกลงในสมุดบันทึกสุขภาพ เพื่อติดตามดูการเปลี่ยนแปลงของลูก ว่าเพิ่มขึ้นตามวัยหรือไม่
พิจารณาตามตารางส่วนสูงตามมาตรฐานของเพศชายและเพศหญิง ตั้งแต่อายุ 1-18 ปี ดังนี้
ข้อมูลตารางจาก สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
นอกจากนี้ ให้ดูการเจริญเติบโตจากกราฟการเจริญเติบโตมาตรฐานของเด็กปกติ เพศเดียวกัน และเชื้อชาติเดียวกัน ถ้าความสูงต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานดังกล่าวข้างต้น แนะนำให้มาพบแพทย์
นพ.สุพิชชา ปัจมนตรี กุมารแพทย์ด้านเบาหวานและต่อมไร้ท่อ กล่าวว่า ภาวะเด็กตัวเตี้ย อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ภาวะขาดฮอร์โมนการเจริญเติบโต ภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ ภาวะตัวเตี้ยตามพันธุกรรม หรือภาวะตัวเตี้ยจากการเข้าสู่วัยหนุ่มสาวช้า ดังนั้น เมื่อใดที่คุณพ่อคุณแม่กังวลเรื่องลูกตัวเตี้ย ให้พาไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและช่วยเหลือแก้ไขตามสาเหตุนั้นๆ
พญ.วรรัตน์ กัจฉมาภรณ์ กุมารแพทย์ด้านต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม ได้กล่าวว่า การเจริญเติบโตของลูก โดยเรื่องของความสูงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยค่ะ โดยเฉพาะ พันธุกรรม การดำรงชีวิต โภชนาการ และการพักผ่อนด้วยเช่นกัน ซึ่งการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอจะทำให้โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) หลั่งออกมา ซึ่งเป็นฮอร์โมนหลักที่ทำให้ร่างกายเจริญเติบโต ช่วยกระตุ้นการสร้างและซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และยังช่วยเพิ่มความสูง โดยฮอร์โมนนี้จะหลั่งออกมาในช่วงที่ร่างกายหลับสนิท หมายความว่าคุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูก ๆ นอนหลับให้เพียงพอประมาณ 8 ชั่วโมงต่อวัน โดยโกรทฮอร์โมนจะหลั่งออกมาในช่วงเวลาตั้งแต่ เที่ยงคืน ถึงตี 5 ดังนั้นการเข้านอนให้หลับสนิทตั้งแต่หัวค่ำจึงมีผลต่อความสูงของลูกได้ค่ะ
รศ.พญ.สุภาวดี ลิขิตมาศกุล กุมารแพทย์ด้านเบาหวานและต่อมไร้ท่อ ยังกล่าวเสริมอีกว่า การพบว่าเด็กมีการเจริญเติบโตที่น้อยกว่าหรือมากกว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน เป็นอาการแสดงของความผิดปกติหรือโรคหายยากที่ซ่อนเร้นอยู่ ได้แก่ ความผิดปกติบกพร่องและฮอร์โมนธัยรอยด์บกพร่อง ฮอร์โมนการเจริญเติบโต และอื่นๆ
ฮอร์โมนเจริญเติบโต เป็นฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจากต่อมใต้สมอง หากต่อมใต้สมองไม่ผลิตฮอร์โมนเจริญเติบโตก็จะทำให้อัตราการเจริญเติบโตของเด็กต่ำกว่าที่ควรจะเป็น สาเหตุที่ทำให้ต่อมนี้ทำงานผิดปกติอาจเป็นพันธุกรรมบางอย่าง ความผิดปกติของต่อมใต้สมองพิทูอิทารี หรือมีความบกพร่องความผิดปกติของบริเวณนั้น บางรายอาจมีหลายสาเหตุรวมกัน เนื่องจากการเจริญเติบโตของร่างกายเป็นผลรวมของปัจจัยต่างๆ ได้แก่ พันธุกรรม อาหาร ฮอร์โมนเจริญเติบโต สุขภาพกาย สุขภาพใจ และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ฮอร์โมนธัยรอยด์ เป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมธัยรอยด์มีหน้าที่ในกระบวนการเมตาบอลิซึมของร่างกาย ทำให้มีการเจริญเติบโตของกระดูกกล้ามเนื้อและเซลอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย การตรวจพบตั้งแต่แรกจะช่วยแก้ไขปัญหาได้ง่ายและดีกว่า
นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตการเจริญเติบโตของลูก ถ้าเตี้ยกว่าเกณฑ์ หรือโตเร็วกว่าปกติ ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องต่อไป โรงพยาบาลธนบุรี2 พร้อมให้บริการวินิจฉัยและรักษาโดยทีมกุมารแพทย์ เฉพาะด้านต่อมไร้ท่อ เปิดให้บริการทุกวัน บริเวณชั้น 2 อาคาร2 เวลา 07.30 - 22.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือนัดหมายได้ที่ คลินิกกุมารเวช โทร. 02-4872100 ต่อ 5228-5229 และ https://www.facebook.com/thonburi2hospital