เรื่อง โรคหลอดเลือดสมอง
โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) คือ โรคที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงเนื่องจากหลอดเลือดตีบ ไปถาวร หรือแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย การทำงานของสมองหยุดชะงักหรือสูญเสีย
โรคหลอดเลือดสมองมีลักษณะของอาการเช่นไร
อาการที่เกิดขึ้นมักเป็นแบบเฉียบพลันทันทีทันใด 5 อาการเตือนที่พึงระวัง ได้แก่
1. แขนขาอ่อนแรง ใบหน้าอ่อนแรงหรือปากเบี้ยว
2. พูดไม่ชัด พูดไม่ออก ฟังไม่เข้าใจภาษา
3. ตามองไม่เห็นข้างใดข้างหนึ่ง หรือมองเห็นครึ่งซีก หรือเห็นภาพซ้อน
4. เวียนศีรษะ โคลงเคลง บ้านหมุน เดินเซ
5.ปวดศีรษะรุนแรง อาจจะมีอาเจียนหรือหมดสติร่วมด้วย
สิ่งสำคัญ คือ อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นชั่วขณะแล้วหายเองเป็นปกติ เช่น อ่อนแรงประมาณ 30 นาที แล้วดีขึ้น จึงทำให้หลายคนชะล่าใจ ไม่ไปพบแพทย์ เพราะไม่ทราบว่านี่เป็นสัญญาณเตือน ในกรณีที่มีอาการชั่วคราวแล้วดีขึ้นเรียกว่า Transient ischemic attack (TIA) สภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว ซึ่งจากการศึกษาพบว่า 1 ใน 9 ของผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันถาวรใน 90 วัน โดยครึ่งหนึ่งจะเกิดใน 2 วันแรกหลังมีอาการเตือน จึงควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดเมื่อมีอาการ เพื่อการรักษาอย่างทันท่วงที
การตรวจวินิจฉัย
1.แพทย์จะสอบถามอาการเจ็บป่วย
2.ตรวจร่างกายอย่างละเอียดทั้งทางระบบประสาทและระบบที่เกี่ยวข้อง
3.การตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง และโรคที่เกิดร่วมด้วยได้แก่
3.1 ตรวจเม็ดเลือด อาจมีภาวะเลือดหนืด ความเข้มข้นเลือดสูง ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก พบบ่อยในผู้ที่สูบบุหรี่จัด หรือเป็นโรคเลือดบางชนิด
3.2 ตรวจระดับน้ำตาล เพื่อช่วยวินิจฉัย โรคเบาหวาน หรือในรายที่เป็นเบาหวาน และใช้ยาลดน้ำตาล อาจเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ ซึ่งทำให้มีอาการคล้ายโรคหลอดเลือดสมองได้
3.3 ตรวจระดับไขมันในเลือด
3.4 ตรวจการแข็งตัวของเลือด (Coagulogram) ตรวจในบางรายที่สงสัยว่ามีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
3.5 ตรวจระดับเกลือแร่ในเลือด (Electrolyte) ช่วยแยกภาวะเกลือแร่ในเลือดที่ผิดปกติ เช่น เกลือแร่ต่ำ อาจทำให้มีอาการคล้ายโรคหลอดเลือดสมอง
3.6 ตรวจเลือดดูระบบการทำงานอื่นร่วมด้วย เช่น การทำงานของไต หรือเอนไซม์ของตับ เพื่อประกอบการพิจารณาให้ยา
4. การตรวจทางรังสีวิทยา ได้แก่
4.1 เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง แยกโรคให้ชัดเจนว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก ช่วยแยกภาวะก้อนเนื้องอกในสมอง ฝีในสมอง ที่มีอาการคล้ายโรคหลอดเลือดสมอง
4.2 เอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging: MRI) ช่วยให้เห็นความผิดปกติของเนื้อสมองที่เสียหายจากการขาดเลือดได้ละเอียด แม่นยำ และช่วยวินิจฉัยโรคได้ดีกว่าการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง โดยเฉพาะรอยโรคที่มีขนาดเล็ก (Magnetic Resonance Angiography (MRA) ช่วยให้เห็นความผิดปกติ ของหลอดเลือดสมอง ตั้งแต่หลอดเลือดที่คอขึ้นไปถึงหลอดเลือดในสมองอย่างละเอียด มักนิยมทำควบคู่กับ MRI เป็นการตรวจที่มีความปลอดภัยสูง มีข้อห้ามหรือข้อควรระวังกับผู้ที่ใส่เหล็กไว้ในตัว เช่น ผ่าตัดใส่เหล็กที่กระดูก มีเครื่องกระตุ้นหัวใจอยู่ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนตรวจ
4.3 การตรวจอัลตราซาวด์หลอดเลือดแดงที่คอ (Carotid Duplex Ultrasound) เพื่อวินิจฉัยภาวะหลอดเลือดแดงตีบที่ระดับคอหรือไม่หรือภาวะที่มีคราบไขมัน (Plaque ) เกาะผนังหลอดเลือดแดงที่ระดับคออันอาจส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดในสมองได้
การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง
1.การรักษาที่เฉพาะเจาะจงขึ้นกับสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองว่าเป็นหลอดเลือดสมองตีบหรือหลอดเลือดสมองแตก โดยจะมีแนวทางการรักษาที่แตกต่างกัน
-
หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน เป้าหมายของการรักษาคือเปิดหลอดเลือดที่อุดตันทำให้เลือดไหลเวียนได้อย่างปกติ โดยทางเลือกในการรักษามีหลายวิธี ในบางกรณีแพทย์อาจให้ยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งพบว่าจะได้ผลดีกับผู้ที่มีอาการและอาการแสดงของโรคหลอดเลือดสมองและรีบมาโรงพยาบาลภายในระยะเวลาไม่เกิน 4.5 ชั่วโมง ถ้าเกิน 4.5 – 6 ชั่วโมงแล้ว แต่ยังมีเนื้อสมองบางส่วนที่ขาดเลือดและยังไม่ตาย แพทย์อาจสอดสายล้วนเข้าหลอดเลือดสมองนั้นไปดึงเอาลิ่มเลือดที่อุดตันออกมา
-
หลอดเลือดสมองปริแตกหรือฉีกขาด เป้าหมายของการรักษาคือการควบคุมปริมาณเลือดที่ออกด้วยการรักษาระดับความดันโลหิต ในกรณีที่เลือดออกมาก แพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดเพื่อป้องกันความเสียหายต่อสมองที่อาจเกิดขึ้นหากก้อนเลือดมีขนาดใหญ่มาก ถ้าตรวจพบว่ายังมีหลอดเลือดที่ผิดปกติหลงเหลืออยู่ซึ่งอาจเกิดการฉีกขาดหรือแตกอีก แพทย์จะผ่าตัดรักษาหลอดเลือดที่ผิดปกตินั้น
2. การรักษาทั่วไป เพื่อประคับประคองรักษาเนื้อสมองที่ยังหลงเหลืออยู่ไม่ให้เสียหายเพิ่มนั้น จะคล้ายคลึงกันทั้งในโรคหลอดเลือดสมองตีบตันและหลอดเลือดสมองแตก
3.การทำกายภาพบำบัด เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพของสมองที่สูญเสียไป เช่น การกลืนอาหาร การเคลื่อนไหว
การป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง
1.ตรวจเช็คสุขภาพประจำปีเพื่อค้นหาและควบคุมรักษาปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ เป็นต้น
2. ควบคุมระดับความดันโลหิต ไขมัน และน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
3. เลือกรับประทานอาหารให้สมดุล หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม หวาน มัน มากเกินควร
4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน 5 ครั้งต่อสัปดาห์ และควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม
งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
5. ถ้ามีอาการเตือนที่แสดงว่าเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอชั่วคราวควรปรึกษาแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อสำรวจรักษาป้องกันไม่ให้เกิดหลอดเลือดสมองตีบตัน
6. ผู้ที่เป็นหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันแล้ว แพทย์จะให้การรักษาโดยใช้ยาเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรคหลอดเลือดสมอง แต่การใช้ยาเหล่านี้จำเป็นต้องมีการติดตามผลการรักษาและปรับขนาดยาโดยแพทย์อย่างเคร่งครัด ถ้ามีการใช้ยาผิดขนาดหรือไม่มีการติดตามดูแลอย่างสม่ำเสมอการรักษาอาจจะไม่ได้ผล หรืออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างรุนแรงได้