เลือกภาษา:
ความรู้เพื่อสุขภาพ

โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก

นพ.สมชาย โตวณะบุตร
โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก
                                                                                                                             
ภาวะนี้เป็นความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติของกล้ามเนื้อใบหน้าทั้งซีก  มีอาการกระตุก  ซึ่งการกระตุกของใบหน้าอาจกระตุกเพียงบางส่วน  เช่น  กระตุกที่หนังตา  มุมปาก  เป็นแบบกระตุกแล้วหยุด  ไม่สม่ำเสมอ  ไม่เป็นจังหวะ  หรืออาจมีการเกร็งด้วย  การกระตุกมักจะเป็นๆ หายๆ ผู้ป่วยมักจะกระตุกมากเมื่อเครียด  พูด  ทำงาน  อาการของโรคนี้จะก่อให้เกิดความรำคาญ  และทำให้ผู้ป่วยเสียบุคลิกภาพ  มีปัญหาในการเข้าสังคม
อาการและอาการแสดง
                การกระตุกส่วนใหญ่เริ่มเป็นที่หนังตาก่อนในตอนแรก  คล้ายอาการตาเขม่น  อาการกระตุกไม่รุนแรง  และความถี่ในการกระตุกนานๆครั้ง  เมื่อเป็นมากขึ้นจะกระจายไปที่ปากและแก้ม  บางครั้งเมื่อกระตุกรุนแรงอาจทำให้ตาปิดสนิท  ส่วนใหญ่มักเกิดบริเวณใบหน้าข้างเดียว  ส่วนน้อยที่เป็นทั้งสองข้าง
สาเหตุของโรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก

- กลุ่มที่ไม่ทราบสาเหตุ หมายถึง กลุ่มที่หาสาเหตุไม่พบ แต่ปัจจุบันเชื่อกันว่าเกิดจากการกดทับของหลอดเลือดต่อจุดออกของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ซึ่งเป็นส้นประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของใบหน้า พบในผู้ป่วยเป็นส่วนใหญ่
- กลุ่มที่ทราบสาเหตุ เช่น เนื้องอกสมอง กระดูกผิดปกติ หลอดเลือดแดงโป่ง เป็นต้น ซึ่งพบน้อย การถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยทั่วไปไม่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือไม่ถ่ายทอดจากพ่อแม่ไปสู่ลูก
ปัจจัยที่ทำให้กระตุกมากขึ้น
โดยทั่วไปอาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มภาวะความเครียดทางจิตใจ เช่น คิดมาก อ่อนเพลีย นอนไม่พอ การไปในที่ชุมชน และ กลุ่มการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้า เช่น การพูด การยิ้ม การใช้สายตามากเกินไป
ปัจจัยที่ทำให้กระตุกน้อยลง
โดยทั่วไปมักเป็นสิ่งที่ผ่อนคลายความเครียดทางจิตใจ  ได้แก่ อารมณ์ดี จิตใจสบาย การนอนเต็มที่  การพักผ่อน  การกดกกหู เป็นต้น
พยากรณ์โรค

- ส่วนมากมักไม่หายขาด  และอาการอาจเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามระยะเวลา  แต่ไม่มีอันตรายถึงชีวิตหรือจะทำให้เป็นอัมพฤกษ์  อัมพาต
- ประมาณครึ่งหนึ่ง  อาการไม่เปลี่ยนแปลงหลังการรักษา การรักษาโรค แบ่งได้เป็น 2 วิธีใหญ่ ๆ คือ
1. การรักษาโดยใช้ยารับประทานและฉีดโบทูลินั่ม ท็อกซิน

- การใช้ยารับประทาน เช่น Clonazepam ข้อดี คือ สะดวก ไม่เจ็บปวด และโรคแทรกซ้อนน้อย  มักใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการใบหน้ากระตุกไม่มากนัก ผู้ป่วยมักดีขึ้นร้อยละ 50  แต่ ข้อเสีย คืออาจมีอาการง่วงนอนจากยาใช้ได้
- การฉีดยาโบทูลินั่ม ท็อกซิน จัดเป็นการรักษาที่เป็นมาตรฐานทั่วโลก เริ่มโดยทำความสะอาดบริเวณที่จะฉีดโบทูลินั่ม ท็อกซิน  จากนั้นฉีดเข้าบริเวณใต้ผิวหนังในตำแหน่งที่มีการเกร็ง  หรือกระตุก  ภายใน 1 สัปดาห์ กล้ามเนื้อจะลดการเกร็ง  กระตุก  และมีผลอยู่ได้  ประมาณ  3 เดือน  จึงฉีดโบทูลินั่ม ท็อกซินซ้ำเป็นระยะๆ เพื่อควบคุมอาการเกร็ง  กระตุก  โดยโบทูไลนุมออกฤทธิ์โดยทำให้กล้ามเนื้อที่ฉีกอ่อนกำลังลงและลดการกระตุก  ข้อดี คือ ใช้ในผู้ป่วยที่มีการกระตุกมาก หรือทนผลข้างเคียงจากยากินไม่ได้ ผู้ป่วยมักดีขึ้นร้อยละ 90 ข้อเสีย คือ ต้องมาฉีดสม่ำเสมอ และไม่หายขาด  อาจมีกล้ามเนื้อส่วนอื่นอ่อนแรงชั่วคราว
2. การผ่าตัด   ซึ่งจะผ่าเมื่อมีการพบหลอดเลือดที่กดเส้นประสาทใบหน้า  (Microvascular decompression) ที่บริเวณก้านสมองออก  หรือพบโรคเนื้องอกที่มากดเส้นประสาท ข้อดี คือ หายขาดได้ร้อยละ 91 และมีผู้ป่วยอีกร้อยละ 9 ที่กลับมีการกระตุกอีกแต่ ข้อเสียคือขึ้นกับความชำนาญของผู้ผ่าตัด และเกิดผลข้างเคียงจากการผ่าตัดได้ เช่น หูข้างหนึ่งเสียร้อยละ 2.6 ก้านสมองขาดเลือดร้อยละ 0.3 และเสียชีวิตร้อยละ0.1 เป็นต้น