เลือกภาษา:
ความรู้เพื่อสุขภาพ

การจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกร

ทพญ.ฉัตราภรณ์ ศุภจำรูญ

 

การจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดเป็นวิธีการรักษาเพื่อแก้ไขความผิดปกติของกระดูกขากรรไกรและใบหน้าให้แก่ผู้ป่วย ซึ่งอาจพบความผิดปกติตั้งแต่เกิด หรือเป็นหลังจากผู้ป่วยมีกระดูกขากรรไกรเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ส่งผลให้ผู้ป่วยมีการรับประทานอาหาร การเคี้ยว และการพูดที่ลำบาก อีกทั้งอาจทำให้เกิดความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกรได้ โดยวิธีการจัดฟันจะเป็นการปรับให้ฟันอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง ส่วนการผ่าตัดจะเป็นการแก้ไขขากรรไกรให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม โดยอาจจะเป็นการผ่าเพียงแค่ขากรรไกรเดียว หรืออาจจะผ่าทั้งขากรรไกรบนและล่างก็ได้ เพื่อให้ผู้ป่วยมีการเคี้ยว การพูด และการหายใจที่เป็นปกติ รวมถึงทำให้เกิดความสวยงามของใบหน้าของผู้ป่วยอีกด้วย

ลักษณะของผู้ป่วยที่ต้องอาศัยการจัดฟันร่วมกับการผ่าตัด

  • ขากรรไกรบนยื่นออกมามาก

  • คางยื่นออกมามาก

  • คางหลุบหรือคางเล็กมาก

  • ขากรรไกรล่างหรือฟันหน้าล่างคร่อมฟันบนมาก

  • หน้าเบี้ยว

  • ยิ้มแล้วเห็นเหงือกเยอะ

การแก้ไขนอกจากจะใช้การจัดฟันแล้วต้องอาศัยการผ่าตัดกระดูกขากรรไกรร่วมด้วยซึ่งบางรายอาจจะผ่าตัดแค่ขากรรไกรเดียว (บนหรือล่าง) หรือในบางรายอาจจะต้องผ่าตัดทั้ง2 ขากรรไกรพร้อมๆกันขั้นตอนคร่าวๆในการจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดคือ

1. การจัดฟันก่อนการผ่าตัด ซึ่งเป็นการแก้ไขการเรียงตัวของฟันให้เป็นระเบียบเพือให้สัมพันธ์กับขากรรไกร ในแต่ละส่วนโดยจะใช้เวลา ประมาณ 1ปีครึ่ง ถึง 2 ปี

2.ขั้นตอนการผ่าตัด หลังจากทำการจัดฟันให้เรียงตัวดีและอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมแล้ว ทันตแพทย์จะทำการผ่าตัดขากรรไกรภายใต้การดมยาสลบในห้องผ่าตัดทำการเลื่อนกระดูกขากรรไกรให้อยู่ในตำแหน่งที่ควรจะเป็น เพื่อให้ได้การสบฟันที่ดี และมีเค้าโครงใบหน้าที่สวยงามมากขึ้นจะใช้เวลาประมาณ3-6 ชั่วโมงขึ้นอยู่กับจำนวนขากรรไกรที่ต้องผ่าและความยากง่ายของเคส หลังจากนั้นผู้ป่วยจะต้องพักฟื้นในโรงพยาบาล 3-7 วันและกลับไปฟักฟื้นต่อที่บ้าน ในช่วงแรกผู้ป่วยจะรับประทานอาหารลำบาก ต้องรับประทานอาหารอ่อน เพราะต้องมีการมัดฟันไว้อย่างน้อย 4-6 สัปดาห์ หลังจากนั้นผู้ป่วยถึงสามารถรับประทานอาหารได้ปกติ

3.การจัดฟันหลังการผ่าตัด ช่วงนี้เป็นช่วงที่ทันตแพทย์จัดฟันจะใช้ในการแก้ไขรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ โดยส่วนมากมักจะใช้เวลาเพียง6 เดือนการจัดฟันก็จะสิ้นสุดลง ผู้ป่วยก็จะได้ใส่รีเทรนเนอร์ต่อเพื่อคงสภาพฟันเหมือนในคนไข้จัดฟันปกติ

ข้อควรทราบเกี่ยวกับการรักษาทางทันตกรรมจัดฟันร่วมกับการผ่าตัด

1. การรักษานี้ต้องการความร่วมมือจากผู้ป่วย เช่น การมาพบแพทย์อย่างต่อเนื่องตามนัด การรักษาความสะอาดช่องปาก การใช้เครื่องมือตามที่ทันตแพทย์สั่ง  

2. หากมีความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร เช่น มีเสียง “คลิ๊ก” ขณะอ้าและหุบปาก อาจจำเป็นจะต้องได้รับการรักษาความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกรก่อน  

3. ผู้ป่วยที่เหมาะแก่การทำศัลยกรรมขากรรไกร คือ ผู้ป่วยที่มีสุขภาพแข็งแรงดี และหมดการเจริญเติบโตของขากรรไกรแล้ว โดยในเพศหญิงควรมีอายุ 17 ปีขึ้นไป ส่วนเพศชายควรมีอายุ 19 ปีขึ้นไป

4. การผ่าตัดจะใช้เวลาประมาณ 2-6 ชม. ผู้ป่วยจะใช้เวลาพักอยู่ในโรงพยาบาลประมาณ 3-7 วัน และควรมีระยะเวลาพักฟื้นที่บ้านต่อประมาณ 3 สัปดาห์ ในกรณีที่มีการผ่าตัดขากรรไกรบนควรหลีกเลี่ยงการเดินทางโดยเครื่องบินในระยะเวลา 6 สัปดาห์หลังการผ่าตัด เพราะการเปลี่ยนแปลงความกดอากาศ อาจทำให้แผลผ่าตัดในฟันบนที่ยังไม่หายดีมีการรั่วได้  

5. การรักษานี้เป็นการรักษาที่มีลักษณะเฉพาะบุคคล ซึ่งอาจจะได้ผลการรักษาที่แตกต่างกัน

6. ความเสี่ยงหรือผลข้างเคียงของการรักษา หลังการผ่าตัดผู้ป่วยอาจมีอาการบวมหรือฟกช้ำบนใบหน้าโดยเฉพาะวันที่ 2-3 หลังการผ่าตัด แต่อาการจะดีขึ้นเมื่อผ่านไป 10-14 วัน อาจมีอาการชาที่ริมฝีปากและคาง หรือ มีการคืนตัวกลับของขากรรไกรสู่ทิศทางเดิมได้บ้าง