เลือกภาษา:
ความรู้เพื่อสุขภาพ

โรคมือเท้าปาก

พญ.วนิดา พิสิษฐ์กุล

โรค มือเท้าปาก หรือ Hand Foot Mouth Disease (HFMD) เป็นโรคที่พบได้บ่อย พบได้ตลอดทั้งปีมากที่สุดในหน้าฝน เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่ม Enterovirus ติดต่อจากการสัมผัส สารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น น้ำมูก น้ำลาย  เสมหะ อุจจาระ ดังนั้นส่วนใหญ่จึงพบระบาดในเด็กที่ อายุน้อยกว่า 5ปี โดยเฉพาะในเด็กเล็กอาจมีอาการรุนแรงได้

อาการ
หลังสัมผัสเชื้อ 3-6 วัน จะเริ่มมีอาการ อาจมีไข้ต่ำๆ ไข้สูงหรือไม่มีไข้ ไข้มักเป็น 2-3 วัน เริ่มมีอาการเจ็บปาก มีรอยโรคในปาก และอาจพบตุ่มแดง หรือตุ่มน้ำขนาดเล็ก ในบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า รวมทั้งส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เช่นศอก เข่า แขน ขา อวัยวะเพศ และรอบๆก้น อาการดังกล่าวอาจพบได้จนถึง วันที่ 7-10 ของโรคก็จะหายไป อาการอื่นที่พบร่วมด้วยคือตาแดง ถ่ายเหลว อาเจียน 
    เนื่องจากโรคนี้มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงคือ ที่สมองและหัวใจ หากมีอาการต่อไปนี้ คืออาเจียนมาก ปวดศีรษะมาก ซึมลง กระสับกระส่าย หัวใจเต้นเร็ว หายใจหอบเหนื่อย ตัวเย็นผิวลาย ชัก เดินเซ ควรมาพบแพทย์โดยด่วน
    ผู้ป่วยกลุ่มที่เสี่ยงต่อการมีภาวะแทรกซ้อนคือ เด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี เด็กที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

การแพร่เชื้อ  
ผ่านทางสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ อุจจาระ หรือสัมผัส น้ำในตุ่มพอง หรือแผลของผู้ป่วย ระยะแพร่เชื้อมากที่สุดใน 1 สัปดาห์แรก แต่จะพบเชื้อในอุจจาระต่อไปได้อีก 2-3 สัปดาห์

วินิจฉัย   จากอาการและอาการแสดง สามารถแยกเพาะเชื้อเป็นชนิดต่างๆได้ โดยการส่งตรวจพิเศษ

การรักษา 
รักษาประคับประคองตามอาการ ถ้ามีไข้ให้ยาลดไข้ เจ็บปากทานไม่ได้ให้หยอดยาชาลดอาการเจ็บ แนะนำทานอาหารเย็นๆ เช่น นมเย็น ไอศครีม น้ำเย็น หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนอย่างอื่นจะหายได้เองภายใน 7-10 วัน
    หากรับประทานอาหารไม่ได้ มีภาวะขาดน้ำ ปัสสาวะออกน้อย ควรพาไปรับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อให้สารน้ำทางเส้นเลือด

    หากมีอาการที่บ่งบอกถึงว่าจะมีภาวะแทรกซ้อนของหัวใจ ที่กล่าว ข้างต้นให้รีบมาโรงพยาบาลโดยด่วน เพื่อให้การรักษาที่จะลดอุบัติการณ์การเสียชีวิตลงได้ เช่น ถ้ามีภาวะแทรกซ้อนทางสมอง อาจจะให้สารอิมโมโนโกลบูลินทางเส้นทางหัวใจให้นอนพักในไอซียู ให้ยากระตุ้นหัวใจ ยาเพิ่มความดันโลหิต ใส่ท่อช่วยหายใจ จนกว่าจะผ่านระยะอันตรายของโรคไป

การป้องกัน
 เนื่องจากโรคนี้ติดต่อง่าย และอาจพบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง การป้องกันไม่ให้มีการระบาด เป็นสิ่งที่ดีที่สุด
  • การดูแลรักษาความสะอาดทั่วไป และสุขอนามัยส่วนบุคคล โดยการล้างมือ ฟอกสบู่ให้สะอาดก่อนเตรียมอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร และหลังขับถ่ายทุกครั้ง (การล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล ไม่สามารถฆ่าเชื้อได้)
  • รับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม
  • ควรใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหาร ไม่ใช้แก้วน้ำ หลอดดูด ช้อน ขวดนมร่วมกับผู้อื่น
  • หลีกเหลี่ยงการคลุกคลี อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย แยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ และให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายป่วย
  • หลีกเหลี่ยงการนำเด็กทารกและเด็กเล็กเข้าไปในสถานที่แออัด หรือที่ๆ เด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก หรือเล่นของเล่นร่วมกันในที่สาธารณะในช่วงที่มีโรคระบาดมาก
  • ผู้ดูแลเด็กต้องตัดเล็บให้สั้น หมั่นล้างมือบ่อยๆ และรีบล้างมือให้สะอาดโดยเร็ว เมื่อเช็ดน้ำมูกน้ำลาย หรือเปลี่ยนผ้าอ้อม เสื้อผ้าที่เปื้อนอุจจาระ
  • ไม่ไปเล่นในสระว่ายน้ำ และควรฆ่าเชื้อในสระว่ายน้ำด้วยคลอรีนในจำนวนที่เหมาะสม
  • ทำความสะอาดพื้น เครื่องใช้ หรือของเล่นเด็กที่อาจปนเปื้อน เชื้อโรคอย่างสม่ำเสมอ ด้วยน้ำยาฟอกขาว (คลอเร็กซ์) อัตราส่วน คือ น้ำยา 20 CC ต่อน้ำ 1000 CC และล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง โดยเชื้ออยู่ในสภาพแวดล้อมได้ 2-3 วัน เชื้อตายง่ายในที่แห้งและร้อน ดังนั้นควรทำความสะอาดของเล่นด้วย 
  • ถ้าพบผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก ควรรับแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณะสุขในพื้นที่โดยเร็ว เพื่อดำเนินการควบคุมโรคต่อไป
โรคนี้ไม่มีการป้องกันด้วยการวัคซีน ดังนั้นผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็กควรเน้นที่สุขอนามัยของเด็กมากที่สุด โดยสอนให้เด็กล้างมือให้เป็นนิสัย ไม่เอาของเข้าปาก เป็นต้น